เหตุผลที่สถานที่อับอากาศเป็นอันตรายถึงชีวิต

เหตุผลที่สถานที่อับอากาศเป็นอันตรายถึงชีวิต

พื้นที่อับอากาศ (Confined Spaces) หมายถึงสถานที่ทำงานหรือบริเวณที่มีทางเข้าออกจำกัด ส่งผลให้การระบายอากาศตามธรรมชาติไม่เพียงพอ อากาศภายในจึงอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นแหล่งสะสมของสารเคมี สารไวไฟ หรือมีปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอได้ ตัวอย่างสถานที่อับอากาศ ได้แก่ถังน้ำมัน ถังสำหรับกระบวนการหมัก ไซโลเก็บของ ท่อน้ำ ถังน้ำ ถ้ำ บ่อ อุโมงค์ใต้ดิน เตา ห้องใต้ดิน ภาชนะ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ วิธีพิจารณาว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อับอากาศ มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาดังนี้

1. พื้นที่ที่มีขนาดเล็ก แก๊สหรือไอที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้

2. ผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ ไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ หรือให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติงานได้สะดวก

3. ช่องเปิด ทางเข้า-ออก อยู่ไกลจากบริเวณปฏิบัติงาน หรือมีขนาดเล็ก หรือมีจำนวนจำกัดจนยากจะเข้าถึง และผ่านเข้าออก เป็นต้น

อันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่อับอากาศ

อันตรายที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน และความเสียหายอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สิน หรือพื้นที่การทำงานได้ดังนี้

1. ภาวะการขาดออกซิเจน ทำให้หมดสติ หรือเสียชีวิต

2. ไฟไหม้เนื่องจากการสะสมของแก๊สที่ติดไฟได้ (Combustible Gas) เช่น แก๊สในตระกูลมีเธนที่เมื่อสะสมมาก ๆ ก็จะเกิดการติดไฟ หรือระเบิดได้

3. อันตรายจากการสูดดมแก๊สพิษ ต่าง ๆ ได้แก่

– แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbonmonoxide) เป็นแก๊สไร้สี ไร้กลิ่น ที่เมื่อมีปริมาณมากก็จะเป็นพิษต่อร่างกาย เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ หรือเกิดมาจากไอเสียของรถยนต์นั่นเอง หรืออาจเกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ อย่างการเกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น แก๊สนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปอด ก็จะแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ โดยผลกระทบต่อร่างกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันขึ้นกับสุขภาพของแต่ละคนด้วย

– แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulphide) เป็นแก๊สไม่มีสี แต่มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า ละลายน้ำได้ เกิดจากการทำปฏิกิริยาของซัลไฟด์ที่มีในของเหล็ก กับกรดซัลฟูริคหรือกรดไฮโดรคลอริค หรืออาจเกิดจากภาวะการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ มักพบในภาคอุตสาหกรรม อย่างปิโตรเลียมยางสังเคราะห์ หรืแโรงงานน้ำตาล ได้ เนื่องจากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นแก๊สที่ติดไฟได้ เมื่อติดไฟแล้วจะเกิดเปลวไฟสีน้ำเงิน และแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา ซึ่งเป็นแก๊สที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และปอด หากสูดดมมาก ๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้

– แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogendioxide) เป็นแก๊สที่มีสีน้ำตาลอ่อน อาจอยู่ในรูปของหมอกที่ปกคลุมตามเมืองต่าง ๆ เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้ปอดเกิดการระคายเคือง และภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคในระบบหายใจลดลง หากสัมผัสบ่อย ๆ ในพื้นที่อับอากาศอาจทำให้เกิดผลแบบเฉียบพลันได้

1. ประสิทธิภาพของการมองเห็นลดลง เนื่องจากในพื้นที่อับอากาศไม่มีแสงสว่างเพียงพอ หรือมีฝุ่นละอองมาขัดขวางการมองเห็น

2. เสียงดัง เพราะเสียงอาจสะท้อนไปมาในพื้นที่อับอากาศ

3. อุณหภูมิสูง เพราะการระบายความร้อนทำได้ไม่ดี

4. การหนีออกจากพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไม่สามารถทำได้สะดวก