จิตอาสาทำความดี อ่านนิทานเสียง ความสุขใจทั้งคนอ่านและคนฟัง

จิตอาสาทำความดี อ่านนิทานเสียง ความสุขใจทั้งคนอ่านและคนฟัง

จิตอาสาทำความดี เป็นคำที่สวยงามและมีคุณค่า แม้จะต้องแลกมาด้วยความยากลำบาก แต่ทว่าความสุขที่ได้มานั้น ล้วนเกิดจากการให้และจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ซึ่งในยุคหนึ่งกิจกรรมจิตอาสาก่อตัวขึ้นภายในชมรมนักศึกษามหาวิทยาลัยและองค์ภาครัฐและเอกชนที่มีนโยบายการทำงานที่เอื้อเฟื้อต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมและวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน ซึ่งวันนี้เราจะนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจิตอาสา อ่านนิทานเสียง ที่ก่อให้เกิดความสุขใจทั้งผู้อ่านและผู้รับฟังด้วย

โดยเริ่มจากการหาข้อมูลว่าการทำงานจิตอาสาเป็นงานในลักษณะใด และหากเราถนัดในการอ่านนิทานหรือหนังสือ เราจะใช้ความสามารถนี้ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร หากเราค้นเข้าไปใน​ Google ก็จะพบคำตอบว่า กลุ่มผู้พิการทางสายตายังต้องการบริการด้านหนังสือเสียง เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาไปในโลกของจินตนาการ ดังนั้นหากเรามีความตั้งใจแน่วแน่แล้วล่ะก็ลองติดต่อไปที่สมาคมผู้พิการทางสายตา หรือมูลนิธิคนตาบอดไทย เพื่อขอทราบแนวทางการทำหนังสือเสียงหรือการอ่านนิทานเสียงเพื่อส่งมอบความสุขให้แก่เพื่อนสมาชิกต่อไป ซึ่งมีการเตรียมพร้อมขั้นตอนในการดำเนินการเบื้องต้นดังนี้

1.คัดสรรหนังสือที่มีสาระความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือหนังสือที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ยังอยากที่จะอ่านเรื่องราวดี ๆ แล้วอย่าลืมตรวจชื่อหนังสือที่จะอ่านด้วยว่าไม่ซ้ำกับที่ของเดิมมีอยู่แล้ว

2.เตรียมสถานที่ซึ่งปราศจากเสียงรบกวน ใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็น windows ดาวน์โหลดโปรแกรม OBI มาติดตั้งไว้

3.ศึกษาและฝึกฝนการใช้โปรแกรม OBI ให้เกิดความชำนาญ

4.ฝึกอ่านหนังสือให้ถูกต้องและออกเสียงให้ชัดเจน หรือเข้าร่วมฝึกอบรมเทคนิคการอ่านหนังสือบันทึกเสียงให้คนตาบอด ผ่านทางออนไลน์ (ZOOM) ของสมาคมฯ

5.ส่งตัวอย่างเสียงการอ่านด้วยโปรแกรม OBI ให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ หรือสมาคมฯพิจารณา (ประมาณ 2-3 หน้าก็พอค่ะ) พร้อมทั้งสอบถามขั้นตอนและข้อสงสัยในการอ่าน พร้อมทั้งแก้ไขได้ทันท่วงที

6.เมื่ออ่านจนจบเล่ม ควรตรวจสอบความเรียบร้อยถูกต้องและความสมบูรณ์ของไฟล์เสียงก่อนส่งเจ้าหน้าที่พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับจากนิทานหรือหนังสือเสียงที่คุณอ่านคือ

1.ช่วยกระตุ้นจินตนาการและพัฒนาการทางสมองในด้านต่าง ๆ

2.ปลูกฝังนิสัยช่างคิด ช่างสังเกต ทำให้เกิดความกล้าแสดงออกและมั่นใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

3.ช่วยส่งเสริมทักษะการฟัง และการฝึกฝนการพูด การออกเสียง ตลอดจนความรู้ด้านภาษา จากเสียงที่ได้ยิน

4.ช่วยเสริมสร้างสมาธิ นำไปสู่กระบวนการคิดอย่างมีสติและมีความเชื่อมั่นในตนเอง

5.ปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็กหรือผู้ฟังในด้านคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีให้เกิดขึ้นได้

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยจากประสบการณ์ในการเป็นจิตอาสาทำความดีอ่านนิทานเสียงให้กับผู้ด้อยโอกาสและเยาวชนที่สนใจ แต่ทว่าคุณค่าจากความสุขใจของทั้งผู้อ่านและผู้ฟังนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะประเมินค่าได้